ศูนย์จำหน่ายแนวข้อสอบราชการ

วันจันทร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ครบรอบ 36 ปี การฝึกผสม AIR THAMAL

                  ครบรอบ 36 ปี การฝึกผสม AIR THAMAL










                      มาเลเซียเป็นหนึ่งในประเทศเพื่อนบ้านที่พรมแดนติดกับประเทศไทย ที่มีความสัมพันธ์ทางทหารที่ดีต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน สืบเนื่องจากการปฏิบัติการทางทหารร่วมกัน เพื่อปราบปรามการการปฏิบัติงานของกลุ่มโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา (จคม.) ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2510 ในรูปแบบยุทธการร่วมผสม ไทย-มาเลเซีย เช่น ยุทธการสวัสดี, ยุทธการซาลาม, ยุทธการสวัสดี-ซาลาม และ ยุทธการไชโย 
จนมาถึงปี พ.ศ.2520 การปฏิบัติงานได้มีการขยายขอบเขตเป็นยุทธการผสมขนาดใหญ่ มีการนำกำลังทางอากาศของทั้งสองชาติเข้ามาสนับสนุนการปฏิบัติงานการรบภาคพื้นดิน มีการปฏิบัติการในชื่อยุทธการ ดาวใหญ่บุสน่า 1 และ 2 ยุทธการซะฮาย่า-เบน่า 1 และ 2 จากความสำเร็จของปฏิบัติการเหล่านี้จึงมีแนวคิดในการจัดระเบียบปฏิบัติร่วมกัน ในรูปแบบการฝึกที่ชื่อ CPX ซาลามัท สวัสดี 1 ในปีพ.ศ.2522 จนมาถึงปี พ.ศ.2524 ทั้งสองประเทศจึงได้ตกลงให้มีการฝึกปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างกองทัพอากาศของทั้ง 2 ประเทศ ภายใต้ชื่อรหัส แอร์ทามัล1 (AIR THAMAL-I) นับแต่นั้นเป็นต้นมา ชื่อการฝึกแอร์ทามัล จึงกลายเป็นเหมือนสัญลักษณ์แห่งมิตรภาพที่แนบแน่นของกองทัพอากาศทั้งสองประเทศมาจนถึงทุกวันนี้

ในโอกาสครบรอบความสัมพันธ์ทางการทหารของกองทัพอากาศทั้งสองนับตั้งแต่การยุทธการ ซาลามัท-สวัสดี 1 จึงได้มีการจัดงานที่ระลึก การครบรอบ 36 ปี การฝึกร่วมผสม แอร์ ทามัล ในระหว่างวันที่ 10 ถึง 11 มิถุนายน 2558 ณ กองบิน 1 จังหวัดนครราชสีมา โดยมี พลอากาศเอก ตรีทศ สนแจ้ง ผู้บัญชาการทหารอากาศ และ พลอากาศเอก Dato’ Sri HjRoslan bin Saad ผู้บัญชาการทหารอากาศมาเลเซีย พร้อมด้วยอดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ และอดีตผู้บัญชาการทหารอากาศมาเลเซีย ถึง 9 ท่าน ได้เดินทางมาร่วมพิธีในครั้งนี้

โดยมีกิจกรรมการจัดนิทรรศการรำลึกถึงการปฏิบัติงานร่วมกันในอดีต ที่อาคารธูปเตมีย์ ซึ่งได้รับความสนใจจากอดีตผู้บังคับบัญชาของกองทัพอากาศและนายทหารในยุคปัจจุบัน ได้พูดคุยและระลึกถึงช่วงเวลาที่ได้ปฏิบัติงานร่วมกันอย่างอบอุ่น ก่อนจะถ่ายรูปเป็นที่ระลึกร่วมกัน นับเป็นภาพประวัติศาสตร์ที่ผู้บัญชาการ และอดีต ผู้บัญชาการ ของทั้งสองชาติได้มาพบปะร่วมกันเป็นจำนวนมากถึง 11 ท่าน
เช้าวันที่ 11 มิถุนายน เป็นการสาธิตการปฏิบัติงานร่วมกันของกองกำลังทางอากาศทั้ง 2 ชาติในภารกิจ Water SAR หรือการช่วยเหลือกู้ภัยทางยุทธวิธีทางน้ำ ในกรณีที่นักบินของกองกำลังฝ่ายเดียวกัน ต้องดีดตัวออกจากกอากาศยาน ลงในแหล่งน้ำ โดยใช้พื้นที่อ่างเก็บน้ำประจำกองบิน 1 เป็นพื้นที่การสาธิต โดยมีอากาศยานที่เข้าร่วมการสาธิต คือ เฮลิคอปเตอร์แบบ EC725 Caracal จากฝูงบินที่ 10 ฐานทัพอากาศกวนตัน และ HAWK Mk.108/208 จากฝูงบินที่ 15 ฐานทัพอากาศบัทเตอร์เวิรธ์  F-5E จากฝูงบิน 211  และ Bell 412 จากฝูงบิน 201รักษาพระองค์

ฉากการสาธิตเริ่มจากการสลับบินผ่านในระดับต่ำในรูปแบบการโจมตีเป้าหมายภาคพื้นดิน ของอากาศยานทั้งสองประเทศ และเกิดเหตุขานการดีดตัวของอากาศยานในภารกิจ นักบินตกลงในพื้นที่แหล่งนี้และลอยตัวด้วยระบบชูชีพ อากาศยานที่เหลือจึงทำการบินวนคุ้มกันเป็นวงจร และเฮลิคอปเตอร์แบบ EC725 ได้บินเข้าช่วยเหลือทันที ด้วยการใช้มนุษย์กบกู้ภัยโรยตัวลงเข้ารับนักบินขึ้นจากน้ำ ด้วยวินซ์ประจำเครื่อง โดยมีเฮลิคอปเตอร์แบบ Bell 412 บินทำการคุ้มกัน และกดดันกองกำลังฝ่ายตรงข้าม ที่เพดานบิน 1500 ฟุต HAWK Mk.108 ทำการบินคุ้มกันทางอากาศที่ความสูง 3000 ฟุต ส่วน F-5E จะทำหน้าที่ควบคุมการปฏิบัติงานอยู่ที่ความสูง 5000 ฟุต 

เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจแล้ว อากาศยานทั้งหมด ได้กลับเข้ามารวมหมู่กัน และบินผ่านหน้าประธานในพิธี ก่อนที่ผู้บัญชาการของทั้ง 2 ชาติจะเดินทางมายังลานจอดอากาศยาน กองบิน 1 เพื่อถ่ายภาพเป็นที่ระลึก และผู้บัญชาการทหารอากาศฝ่ายไทย ทำการส่งผู้บัญชาการทหารอากาศมาเลเซียเดินทางกลับด้วยเครื่องบินลำเลียงแบบ C-130 ต่อไป















by...T H A I A R M E D F O R C E

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น